ข้ามไปเนื้อหา

มาร์ธาแห่งเดนมาร์ก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Martha of Denmark)
มาร์ธาแห่งเดนมาร์ก
สมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดน
เจ้าหญิงแห่งเดนมาร์ก
สมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดน
ครองราชย์ค.ศ. 1298–1318
ก่อนหน้าเฮลวิกแห่งฮ็อลชไตน์
ถัดไปบล็องช์แห่งนามูร์
ประสูติค.ศ. 1277
เดนมาร์ก
สวรรคต2 มีนาคม ค.ศ. 1341
(พระชนมายุราว 64 พรรษา)
โบสถ์นักบุญเปเดอ, ไนส์วึด
ฝังพระศพโบสถ์นักบุญเบ็นท์, ริงสเต็ด
คู่อภิเษกพระเจ้าบีร์เยอแห่งสวีเดน
พระราชบุตร
  • เจ้าชายมักนุสแห่งสวีเดน
  • เจ้าชายอีริคแห่งสวีเดน อัครพันธบริกรแห่งอุปซอลา
  • เจ้าหญิงอักเนสแห่งสวีเดน ภคินีแห่งอารามสลันเงอรัป
  • เจ้าหญิงคาทารีนาแห่งสวีเดน
พระนามเต็ม
มาร์เกรเธอ อีริคสแด็ทเทอร์ แอสตริดเซน
ราชวงศ์แอสตริดเซน (โดยประสูติ)
ยาลโบ (โดยเสกสมรส)
พระราชบิดาพระเจ้าอีริคที่ 5 แห่งเดนมาร์ก
พระราชมารดาอักเนสแห่งบรันเดินบวร์ค
ศาสนาโรมันคาทอลิก

มาร์ธาแห่งเดนมาร์ก หรือ มาร์เกรเธอแห่งเดนมาร์ก (ค.ศ. 1277 - 2 มีนาคม หรือ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1341) ทรงเป็นเจ้าหญิงเดนมาร์ก และเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดน จากการอภิเษกสมรสกับพระเจ้าบีร์เยอแห่งสวีเดน เมื่อประสูติทรงมีพระนามว่า มาร์เกรเธอ อีริคสแด็ทเทอร์ (เดนมาร์ก: Margrete Eriksdatter) แต่ในสวีเดนทรงถูกเรียกว่า มาร์ธา (สวีเดน: Märta) และทรงเป็นที่รู้จักในประวัติศาสตร์ในชื่อ พระราชินีมาร์ธา พระนางทรงได้รับการกล่าวของว่าเป็นสมเด็จพระราชินีที่มีอิทธิพลทางการเมืองสูงสุด และเป็นบุคคลสำคัญในเหตุการณ์กลเกมฮอตูนาและงานเลี้ยงนูเชอปิง

พระชนม์ชีพ[แก้]

ช่วงต้นพระชนม์ชีพ[แก้]

เจ้าหญิงมาร์เกรเธอแห่งเดนมาร์ก หรือ มาร์ธา ทรงเป็นพระราชธิดาในพระเจ้าอีริคที่ 5 แห่งเดนมาร์ก กับอักเนสแห่งบรันเดินบวร์ค และเป็นพระขนิษฐาในพระเจ้าอีริคที่ 6 แห่งเดนมาร์ก ในค.ศ. 1282 กษัตริย์เดนมาร์กและกษัตริย์สวีเดนได้กลับมาสานสัมพันธ์กันอย่างสันติ และตกลงกันให้เจ้าหญิงมาร์ธาเสกสมรสกับเจ้าชายบีร์เยอ รัชทายาทในราชบัลลังก์สวีเดน[1] ในค.ศ. 1284 สมเด็จพระสันตะปาปาทรงประทานให้มีการเสกสมรสครั้งนี้[2] ในค.ศ. 1288 ที่เมืองเฮลซิงบอรย์ มีการสร้างพันธมิตรจากการเสกสมรสระหว่างราชวงศ์เดนมาร์กกับราชวงศ์สวีเดน คือระหว่าง กษัตริย์อีริคที่ 6 พระเชษฐาของพระนาง อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงอิงเงอบอร์ก มักนุสด็อทเทอร์แห่งสวีเดน ซึ่งมีกำหนดการอภิเษกสมรสในค.ศ. 1296[3]

ตามพงศาวดารอีริค เจ้าหญิงมาร์ธาได้เสด็จออกจากเดนมาร์กหลังจากมีการประกาศพิธีหมั้นแล้ว และทรงใช้พระชนม์ชีพในวัยเยาว์ที่ราชสำนักสวีเดน[4] แต่ก็ไม่มีข้อมูลทราบแน่ชัดว่าพระนางเสด็จออกจากเดนมาร์กเมื่อใด แต่คาดว่าอาจจะก่อนพระราชบิดาของพระนางจะสวรรคตใน ค.ศ. 1286[5]

สมเด็จพระราชินี[แก้]

พระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าหญิงมาร์ธากับกษัตริย์บีร์เยอจัดขึ้นในเมืองสตอกโฮล์ม วันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1298[6] พระราชพิธีอภิเษกสมรสมีรายละเอียดที่ซับซ้อนมาก โดยมีขบวนเหล่าอัศวิน โรงละครสมัครเล่นของพวกขุนนาง กษัตริย์ทรงสถาปนาพระราชอนุชาทั้งหลายเป็นดยุก พระนางมาร์ธาทรงได้รับการสรรเสริญเนื่องจากพระนางไม่ทรงร้องขอใดๆ นอกจากขอให้ปล่อยตัวมักนุส อัลโกต์สัน ขุนนางซึ่งถูกจับกุมด้วยข้อหาลักพาตัวเจ้าสาวที่เกิดตั้งแต่ ค.ศ. 1288[7] พระนางทรงได้รับที่ดินเป็นสินสมรสอย่างที่คาดไม่ถึง ประกอบด้วย เฟียดรุนดาลันด์ (อุปป์ลันด์ตะวันตก) และเอียนเชอปิง เป็นที่ดินศักดินาส่วนพระองค์ ซึ่งพระนางทรงได้รับพระราชทานใน ค.ศ. 1300[8] พระนางได้รับการสวมมงกุฎเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดนที่เซอเดอร์เชอปิง วันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1302[9]

พระราชินีมาร์ธาและกษัตริย์บีร์เยอทรงเจริญพระชันษามาด้วยกัน และพระชนม์ชีพสมรสก็มีความสุข พระนางทรงได้รับการบรรยายว่าทรงมีอิทธิพลใหญ่หลวงเหนือพระราชสวามีและกิจการของรัฐ และทรงได้รับการบรรยายว่าทรงเป็นผู้กระตือรือร้นทางการเมือง[10] ในค.ศ. 1304 สมเด็จพระราชินีมาร์ธาแห่งสวีเดน และสมเด็จพระราชินีอิงเงอบอร์กแห่งเดนมาร์ก ซึ่งเป็นพระเชษฐภคินีของพระสวามี ทรงเข้าร่วมการประชุมที่พรมแดนระหว่างกษัตริย์บีร์เยอและกษัตริย์อีริคที่ 6 ที่คนาเรด หรือ ฟาแกร์ดาลา[11] ในวาระนี้เจ้าชายมักนุสแห่งสวีเดน พระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระนางได้รับการประกาศเป็นรัชทายาทราชบัลลังก์สวีเดน

ในวันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 1306 พระราชินีมาร์ธาและกษัตริย์บีร์เยอทรงได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานเฉลิมฉลอง แต่จากนั้นทรงถูกจับกุมโดยเจ้าชายอีริค ดยุกแห่งเซอเดร์มันลันด์และเจ้าชายวัลเดมาร์ ดยุกแห่งฟินแลนด์ ซึ่งเป็นเหล่าพระราชอนุชาของกษัตริย์ ในช่วงนี้คือเหตุการณ์กลเกมฮอตูนาและทรงถูกนำไปจองจำที่ปราสาทนูเชอปิง โดยดยุกทั้งสองทรงยึดพระราชอำนาจของอาณาจักร[12] พระราชโอรส 2 พระองค์และพระราชธิดา 1 พระองค์ได้ถูกจองจำด้วย ในขณะที่เจ้าชายมักนุส พระราชโอรสองค์ใหญ่ซึ่งเป็นองค์รัชทายาทได้เสด็จหนีไปยังเดนมาร์ก[13] มีการทำสนธิสัญญากันระหว่างกษัตริย์เดนมาร์ก พระเชษฐาของพระราชินีมาร์ธา กับเหล่าดยุกในปีถัดมา เหล่าพระราชอนุชาในพระสวามีได้รับรองสิทธิในการครอบครองทรัพย์สินที่เป็นส่วนของพระนาง และในค.ศ. 1308 พระราชินีมาร์ธาและกษัตริย์บีร์เยอทรงได้รับการปล่อยพระองค์[14]

มีบันทึกว่าสมเด็จพระราชินีมาร์ธาทรงมีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์งานเลี้ยงนูเชอปิง ค.ศ. 1317 ซึ่งกษัตริย์และพระราชินีทรงแก้แค้นเหล่าดยุก โดยทรงเชิญพระราชอนุชาทั้งสองมาร่วมงานเฉลิมฉลอง หลังจากนั้นทรงมีรับสั่งให้จับกุมทั้งสองพระองค์และพระราชอนุชาทั้งสองสิ้นพระชนม์ในที่คุมขังใต้ดิน และข้อเท็จจริงชี้ชัดว่าพระราชินีทรงเป็นผู้วางแผนการณ์เบื้องหลัง[15] ตามพงศาวดารอีริค สมเด็จพระราชินีมาร์ธาและโยฮัน บรุนโคว์ ข้าราชสำนักของกษัตริย์เป็นผู้ริเริ่มให้ทำการจับกุมเหล่าดยุก[16] แต่พงศาวดารลือเบ็ค อ้างว่า พระนางทรงมีอิทธิพลเหนือกษัตริย์บีร์เยอให้ดำเนินการซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกษัตริย์เดนมาร์ก พระเชษฐาของพระนาง[17] พงศาวดารอีริค บรรยายว่าพระราชินีทรงให้การต้อนรับเหล่าพระราชอนุชาของกษัตริย์ด้วยคำมั่นว่า พระนางทรงรักพวกเขาราวกับเป็นพระอนุชาโดยสายเลือดเดียวกัน[18] พงศาวดารยังกล่าวถึงบทบาทของพระนางในงานเฉลิมฉลองที่บรรยายว่า "ทุกๆ คนเต้นรำตั้งแต่จากในบ้านไปจนถึงนอกบ้าน พระราชินีไม่เคยดูมีความสุขเช่นนี้มาก่อน"[19] ความอารมณ์ดีของพระนางถูกมองว่าเป็นสัญญาณแสดงความกระหายอย่างโหดเหี้ยมที่พระนางและพระราชสวามีต้องการแก้แค้นความอัปยศจากกลเกมฮอตูนา และทรงวางแผนจับกุมตัวดยุกทั้งสองกลางงานเฉลิมฉลอง[20]

แต่การปลงพระชนม์เหล่าดยุก ได้ทำให้เกิดความขัดแย้งกับ 2 ดัชเชส พระชายาม่ายของดยุกทั้งสอง คือ เจ้าหญิงอิงเงอบอร์ก โฮกุนสแด็ทเทอร์แห่งนอร์เวย์ ดัชเชสม่ายแห่งเซอเดร์มันลันด์และเจ้าหญิงอิงเงอบอร์ก อีริคสแด็ทเทอร์แห่งนอร์เวย์ ดัชเชสม่ายแห่งฟินแลนด์ ได้รวมกำลังได้ชัยชนะเหนือกองทัพกษัตริย์ใน ค.ศ. 1318 กษัตริย์และราชินีเสด็จหนีไปเกาะเกิตลันด์ และจากนั้นเสด็จไปยังเกาะเชลลันด์ เดนมาร์ก พร้อมพระราชโอรสธิดา ส่วนโอรสในอดีตดยุกและดัชเชสม่ายแห่งเซอเดร์มันลันด์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์สวีเดน[21]

ลี้ภัย[แก้]

ศิลาจารึกบนหลุมฝังพระศพของอดีตพระราชินีมาร์ธาและอดีตกษัตริย์บีร์เยอ ในค.ศ. 1582 ที่โบสถ์นักบุญเบ็นท์, ริงสเต็ด (จารึกนี้ไม่ได้ถูกวางบนที่ฝังพระศพจริง) [22]

วันที่ 4 กันยายน ค.ศ. 1318 กษัตริย์อีริคที่ 6 แห่งเดนมาร์กทรงพระราชทานตำหนักและที่ดินในยารุป บนคาปสมุทรจัตแลนด์แก่อดีตพระราชินีสวีเดนเป็นรายได้แก่พระนาง ปีถัดมากษัตริย์อีริคที่ 6 พระเชษฐาของพระนางได้เสด็จสวรรคต ราชบัลลังก์ได้ส่งผ่านไปยังพระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก พระราชอนุชาของพระนาง มีรายงานว่า อดีตพระราชินีมาร์ธาทรงมีความสัมพันธ์กับกษัตริย์พระองค์ใหม่ที่ไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากอาจเป็นเพราะในอดีต กษัตริย์คริสตอฟเฟอร์เคยสนับสนุนเหล่าเจ้าชายดยุกสวีเดนในการต่อต้านกษัตริย์อีริคแห่งเดนมาร์ก[23] แต่ถึงกระนั้นกษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ที่ 2 ทรงพระราชทานตำหนักสเปเกอบอร์กที่สแกร์สคอร์ บนเกาะเชลลันด์ แก่อดีตพระราชินีมาร์ธาและอดีตกษัตริย์บีร์เยอ โดยมีเขตการปกครองสองแห่ง[24]

อดีตพระราชินีมาร์ธาทรงตกพุ่มหม้ายใน ค.ศ. 1321 เหมือนว่า พระนางทรงต้องเสด็จติดตามกษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ที่ 2 เมื่อกษัตริย์ทรงลี้ภัยไปยังดินแดนเยอรมัน ค.ศ. 1326 และไม่ทรงได้เสด็จกลับเดนมาร์กเป็นเวลา 3 ปี[25] ในค.ศ. 1329 พระนางทรงได้รับการรับรองว่าจะมีการคืนทรัพย์สินให้แก่พระนาง ใน ค.ศ. 1332 กษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ที่ 2 เสด็จสวรรคต และเดนมาร์กตกอยู่ในภาวะวุ่นวายของสมัยไร้กษัตริย์ ไม่มีการบันทึกถึงพระนางในช่วงเวลานี้ แต่ในช่วงปีต่อๆ มา ซึ่งเป็นวาระบั้นปลายพระชนม์ชีพ พระนางทรงปลีกพระองค์ไปประทับที่อารามสโคฟคลอสเตอที่ไนส์วืดบนเกาะเชลลันด์[26]

เจ้าชายอีริคแห่งสวีเดน อัครพันธบริกรแห่งอุปซอลา พระราชโอรสองค์ที่สองของพระนางสิ้นพระชนม์ขณะลี้ภัยใน ค.ศ. 1319 ส่วนใน ค.ศ. 1320 เจ้าชายมักนุสแห่งสวีเดน พระราชโอรสองค์ใหญ่เสด็จกลับสวีเดน เพื่อชิงราชบัลลังก์คืน ซึ่งทำให้ทรงถูกจับประหารชีวิตด้วยการตัดพระเศียร[27] พงศาวดารกล่าวถึงพระราชธิดาทั้งสองของพระนางคือ เจ้าหญิงอักเนสและเจ้าหญิงคาทารีนาเพียงน้อยนิดเท่านั้น เรื่องของเจ้าหญิงคาทารีนา พระราชธิดาองค์สุดท้องนั้นไม่มีการกล่าวถึงอีกเลย และที่รู้เพียงพระราชธิดาองค์ใหญ่คือ เจ้าหญิงอักเนสแห่งสวีเดน ที่ระบุว่า กษัตริย์เดนมาร์ก ซึ่งเป็นพระญาติของเจ้าหญิงได้พระราชทานที่ดินอารามสลันเงอรัป เพื่อให้พระนางดูแลใน ค.ศ. 1344[28]

พระศพของอดีตพระราชินีมาร์ธาได้รับการฝังที่โบสถ์นักบุญเบ็นท์, ริงสเต็ด

พระราชโอรส-ธิดา[แก้]

  • เจ้าชายมักนุสแห่งสวีเดน (ค.ศ. 1300 - 1320) ถูกประหารชีวิตในสวีเดน
  • เจ้าชายอีริคแห่งสวีเดน (สิ้นพระชนม์ ค.ศ. 1319) เป็นอัครพันธบริกรแห่งอุปซอลา สิ้นพระชนม์ในช่วงลี้ภัย
  • เจ้าหญิงอักเนสแห่งสวีเดน (สิ้นพระชนม์หลัง ค.ศ. 1344) เป็นแม่ชีแห่งอารามสลันเงอรัป
  • เจ้าหญิงคาทารีนาแห่งสวีเดน (สิ้นพระชนม์หลัง ค.ศ. 1320)

เชิงอรรถ[แก้]

  1. Märta, urn:sbl:8651, Svenskt biografiskt lexikon (art av Hans Gillingstam), hämtad 2016-09-06.
  2. Märta, urn:sbl:8651, Svenskt biografiskt lexikon (art av Hans Gillingstam), hämtad 2016-09-06.
  3. Märta, urn:sbl:8651, Svenskt biografiskt lexikon (art av Hans Gillingstam), hämtad 2016-09-06.
  4. Märta, urn:sbl:8651, Svenskt biografiskt lexikon (art av Hans Gillingstam), hämtad 2016-09-06.
  5. Märta, urn:sbl:8651, Svenskt biografiskt lexikon (art av Hans Gillingstam), hämtad 2016-09-06.
  6. Märta, urn:sbl:8651, Svenskt biografiskt lexikon (art av Hans Gillingstam), hämtad 2016-09-06.
  7. Märta, urn:sbl:8651, Svenskt biografiskt lexikon (art av Hans Gillingstam), hämtad 2016-09-06.
  8. Märta, urn:sbl:8651, Svenskt biografiskt lexikon (art av Hans Gillingstam), hämtad 2016-09-06.
  9. Märta, urn:sbl:8651, Svenskt biografiskt lexikon (art av Hans Gillingstam), hämtad 2016-09-06.
  10. Christer Öhman (Swedish): Helgon, bönder och krigare. Berättelser ur den svenska historien (Saints, farmers and warriors. Stories from the history of Sweden)
  11. Märta, urn:sbl:8651, Svenskt biografiskt lexikon (art av Hans Gillingstam), hämtad 2016-09-06.
  12. Märta, urn:sbl:8651, Svenskt biografiskt lexikon (art av Hans Gillingstam), hämtad 2016-09-06.
  13. Märta, urn:sbl:8651, Svenskt biografiskt lexikon (art av Hans Gillingstam), hämtad 2016-09-06.
  14. Märta, urn:sbl:8651, Svenskt biografiskt lexikon (art av Hans Gillingstam), hämtad 2016-09-06.
  15. Christer Öhman: Helgon, bönder och krigare. Berättelser ur den svenska historien [Saints, peasants and warriors. Stories from the Swedish history], 1994
  16. Märta, urn:sbl:8651, Svenskt biografiskt lexikon (art av Hans Gillingstam), hämtad 2016-09-06.
  17. Märta, urn:sbl:8651, Svenskt biografiskt lexikon (art av Hans Gillingstam), hämtad 2016-09-06.
  18. Christer Öhman: Helgon, bönder och krigare. Berättelser ur den svenska historien [Saints, peasants and warriors. Stories from the Swedish history], 1994
  19. Christer Öhman: Helgon, bönder och krigare. Berättelser ur den svenska historien [Saints, peasants and warriors. Stories from the Swedish history], 1994
  20. Christer Öhman: Helgon, bönder och krigare. Berättelser ur den svenska historien [Saints, peasants and warriors. Stories from the Swedish history], 1994
  21. Märta, urn:sbl:8651, Svenskt biografiskt lexikon (art av Hans Gillingstam), hämtad 2016-09-06.
  22. Engberg, Niels (2014). "Erik 4. Plovpenning og Jutta". ใน Kryger, Karin (บ.ก.). Danske kongegrave I. Selskabet til Udgivelse af danske Mindesmærker. pp. 322–335 (p. 323 in particular).
  23. Märta, urn:sbl:8651, Svenskt biografiskt lexikon (art av Hans Gillingstam), hämtad 2016-09-06.
  24. Märta, urn:sbl:8651, Svenskt biografiskt lexikon (art av Hans Gillingstam), hämtad 2016-09-06.
  25. Märta, urn:sbl:8651, Svenskt biografiskt lexikon (art av Hans Gillingstam), hämtad 2016-09-06.
  26. Märta, urn:sbl:8651, Svenskt biografiskt lexikon (art av Hans Gillingstam), hämtad 2016-09-06.
  27. Märta, urn:sbl:8651, Svenskt biografiskt lexikon (art av Hans Gillingstam), hämtad 2016-09-06.
  28. Märta, urn:sbl:8651, Svenskt biografiskt lexikon (art av Hans Gillingstam), hämtad 2016-09-06.

อ้างอิง[แก้]

  • Svensk Uppslagsbok, 1947 års utgåva. [Swedish dictionary, 1947 edition] 1947 (Swedish)
  • Wilhelmina stålberg (Swedish): Anteqningar om svenska qvinnor [Notes on Swedish women]
  • Dick Harrison (Swedish): Jarlens sekel [The century of the jarl]
  • Christer Öhman: Helgon, bönder och krigare. Berättelser ur den svenska historien [Saints, peasants and warriors. Stories from the Swedish history], 1994
  • [1]
ก่อนหน้า มาร์ธาแห่งเดนมาร์ก ถัดไป
ว่าง
ตำแหน่งก่อนหน้า
เฮลวิกแห่งฮ็อลชไตน์

สมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดน
(ค.ศ. 1298–1318)
ว่าง
ตำแหน่งถัดไป
บล็องช์แห่งนามูร์